แนววินิจฉัยจากกรมสรรพากรที่น่าสนใจประจำเดือน กันยายน 2549 (Ver 1)

แนววินิจฉัยจากกรมสรรพากรที่น่าสนใจประจำเดือน กันยายน 2549 1. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดโดยไม่คำนึงว่า บริษัทฯ จะมีกำไรหรือขาดทุนหรือไม่ บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีค่าก่อสร้างอาคารสำนักงาน คลังเก็บสินค้า บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินตามมาตรา 65 ทวิ(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 กรณีลานคอนกรีตจอดรถ บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 20 ต่อปีของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สิน โดยถือเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น ตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่เช่าซึ่งอยู่ใต้พื้นที่ลานคอนกรีตรวมถึงค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่เช่าซึ่งอยู่ใต้พื้นที่อาคารสำนักงานและคลังสินค้า ถือเป็นการทำให้มูลค่าของที่ดินสูงขึ้น จึงต้องนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปรวมกับราคาที่ดิน และถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 3. บริษัทฯ ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการและพนักงานของบริษัทฯ รวมทั้งผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นการทั่วไปตามระเบียบและสวัสดิการของบริษัทฯ โดยมติที่ประชุมของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรรมการและพนักงานต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร โดยกรรมการและพนักงานสามารถนำใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทรับประกันชีวิตออกให้นั้น มาใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้เฉพาะในปีที่มีการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต และรายจ่ายดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะและไม่ใช่รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ(13) แห่งประมวลรัษฎากร 4. บริษัทฯ ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนผู้ถือหุ้น บิดามารดา สามี หรือภริยา และบุตรของพนักงาน เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่เป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร 5. บริษัทฯ จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการของบริษัทอื่นที่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทฯ ในอัตราร้อยละ 25 ประมาณ 3-10 ท่าน เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่เป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร 6. บริษัทฯ ทำประกันชีวิตให้กับพนักงานโดยนำกำไรสุทธิมาจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิต ถือเป็นการจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว บริษัทไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 7. กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อชาวต่างประเทศในประเทศไทย โดยลูกค้าได้จ่ายเงินมัดจำหรือชำระค่าสินค้าทั้งหมดให้แก่บริษัทฯ ด้วยบัตรเครดิตไว้ล่วงหน้า และให้บริษัทฯ ดำเนินพิธีการศุลกากรส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ และออก Invoice ในนามบริษัทฯ โดยมิได้ส่งมอบการครอบครองสินค้าที่ซื้อให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย กรณีดังกล่าวถือเป็นการขายสินค้าโดยส่งออกตามมาตรา 77/1(8)(ค) และมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออก แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 78(4)(ก) ดังนั้น หากบริษัทฯ มีหลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกในนามของบริษัทฯ ที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือเอกสารหลักฐานอื่นที่แสดงว่า มีการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร 8. กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาและส่งเสริมการขายจากบริษัท A ตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากบริษัทฯ มิได้ขายสินค้าหรือให้บริการใดๆ แก่บริษัท A เพื่อตอบแทนเงินสนับสนุนที่ได้รับจากบริษัท A เงินสนับสนุนดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ บริษัทฯ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร 9. กรณีบริษัท ได้ชำระค่าบริการฝึกอบรมไปให้บริษัทฯ ในต่างประเทศ และบริษัทฯ ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 โดยคำนวณเงินค่าบริการฝึกอบรมที่เป็นเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ณ วันที่ 8 กันยายน 2548 ซึ่งตามข้อเท็จจริงข้างต้นบริษัทฯ จะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ณ วันที่ 9 กันยายน 2548 จึงเป็นเหตุให้บริษัทฯ นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเกินไปเป็นเงินจำนวน 496.00 บาท ตามรายละเอียดดังนี้ มูลค่าบริการ VAT ตามที่บริษัทฯ ชำระ : EUR 18,859.67 @ 51.5240 = 971,744.50 = 68,022.12 บาท ตามที่ควรจะเป็น : @51.149.93 = 964,658.92 = 67,526.12 บาท ผลต่าง 496.00 บาท แต่การที่บริษัทฯ ยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ไว้แล้วเป็นเงินจำนวน 68,022.12 บาท โดยได้รับใบเสร็จรับเงินจากกรมสรรพากร ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าว ให้ถือเป็นภาษีซื้อตามมาตรา 77/1(18)(ค) และมาตรา 77/1(22) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อในกรณีนี้ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

16 กันยายน 2549


Copyright (c) 2014 - 2024 narongaccounting.co.th All rights reserved.
System developed by CRiT SERVICE | CHECK MAIL | BOOKMARK | NR SERVICE