ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาห้องชุดไม่ได้ใช้งาน

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาห้องชุด ประเด็นปัญหา มาตรา 65 ทวิ (2) และมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทแห่งหนึ่ง ซื้อห้องชุดไว้โดยมิได้ใช้ในการประกอบกิจการ ดังนี้ 1. ในปี 2540 ซื้อห้องชุดจำนวน 1 ห้องชุด มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงานสาขาของบริษัทฯ ต่อมาประสบกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทฯ ไม่สามารถขยายสาขาได้ จึงปิดห้องชุดไว้ ไม่ได้ใช้ในการประกอบกิจการใด 2. ในปี 2542 ซื้อห้องชุดจำนวน 1 ห้องชุด มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ แต่เนื่องจากประสบกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้บริษัทฯ ยกเลิกโครงการย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่ห้องชุดดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2549 บริษัทฯ ได้นำห้องชุดดังกล่าวให้บุคคลอื่นเช่าเป็นระยะเวลา 3 ปี และซื้อห้องชุดจำนวน 1 ห้องชุด เพื่อใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานสาขา แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย จึงไม่สามารถเปิดสาขาได้จนทุกวันนี้ บริษัทฯ ได้บันทึกบัญชีห้องชุดทั้งสองกรณีเป็นทรัพย์สิน และคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินไม่เกินอัตราที่ประมวลรัษฎากรกำหนดตั้งแต่วันที่ซื้อมาถูกต้องหรือไม่ แนววินิจฉัย ตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการซื้อห้องชุดเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ และบริษัทฯ ได้บันทึกบัญชีเป็นทรัพย์สิน เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้นำไปหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินตามมาตรา 65 ทวิ(2) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 โดยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินนั้น บริษัทฯ จะต้องคำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี แม้ว่าบริษัทฯ จะไม่ได้ใช้ห้องชุดตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ (กค 0706/3395 ลว. 26 เมษายน 2549 69/34129) 49cit007เมย.

4 กรกฎาคม 2549


Copyright (c) 2014 - 2024 narongaccounting.co.th All rights reserved.
System developed by CRiT SERVICE | CHECK MAIL | BOOKMARK | NR SERVICE