ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการซื้อหุ้นทุนคืนของบริษัทมหาชนจำกัด

เลขที่หนังสือ : กค 0706/9342 วันที่ : 10 พฤศจิกายน 2548 เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการซื้อหุ้นทุนคืนของบริษัทมหาชนจำกัด ประเด็นปัญหา : มาตรา 65 ต. ได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการซื้อหุ้นทุนคืนของบริษัทมหาชนจำกัด โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้ 1. กระทรวงพาณิชย์ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 ซึ่งมีผลให้บริษัทมหาชนจำกัดสามารถซื้อหุ้นคืนได้ 2 กรณี คือ 1.1 กรณีผู้ถือหุ้นออกเสียงไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งแก้ไขข้อบังคับของบริษัทมหาชนจำกัดเกี่ยวกับสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนและสิทธิในการรับเงินปันผล ซึ่งผู้ถือหุ้นเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม 1.2 กรณีการบริหารทางการเงินเมื่อบริษัทมหาชนจำกัดมีกำไรสะสมและสภาพคล่องส่วนเกิน และการซื้อหุ้นทุนคืนนั้นไม่เป็นเหตุให้ประสบปัญหาทางการเงิน 2. การซื้อหุ้นทุนคืนตามข้อ 1. บริษัทมหาชนจำกัดจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง กล่าวคือ การซื้อหุ้นทุนคืนให้ซื้อในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ หรือเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นเป็นการทั่วไป และการขายหุ้นที่ซื้อคืนจะกระทำได้เมื่อพ้น 6 เดือนนับแต่การซื้อหุ้นแล้วเสร็จ และต้องขายให้หมดภายในกำหนดเวลาที่กำหนดแต่ไม่เกิน 3 ปี นับแต่การซื้อหุ้นเสร็จสิ้น หากบริษัทมหาชนจำกัดขายหุ้นทุนที่ซื้อคืนไม่หมด บริษัทมหาชนจำกัดต้องลดทุนชำระแล้วโดยวิธีตัดหุ้นจดทะเบียนที่ซื้อคืนและยังไม่ได้จำหน่าย กล่าวคือ การยกเลิกหุ้นทุนซื้อคืนในทางบัญชี 3. เนื่องจากหุ้นทุนซื้อคืนตามแนวทางปฏิบัติทางการบัญชีเกี่ยวกับหุ้นทุนซื้อคืนของกิจการ หมายถึง หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ และตราสารทุนอื่นที่มีสิทธิและลักษณะเทียบเท่าหุ้นสามัญของกิจการซึ่งกิจการหรือบริษัทย่อยของกิจการได้ซื้อคืนกลับมา หุ้นทุนซื้อคืนไม่ได้เป็นสินทรัพย์ของกิจการ แต่เป็นการลดสิทธิเรียกร้องของผู้ถือหุ้นในสินทรัพย์ของกิจการ โดยปัจจุบัน ยังไม่มีมาตรฐานการบัญชีของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกบัญชีรายการหุ้นทุนซื้อคืน ดังนั้น เพื่อให้บริษัทมหาชนจำกัดมีแนวทางการบันทึกบัญชีหุ้นทุนซื้อคืนและการเปิดเผยข้อมูลครบถ้วน สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยจึงได้ออกแนวทางปฏิบัติทางการบัญชีเกี่ยวกับหุ้นทุนซื้อคืนของกิจการ โดยมีหลักการสำคัญว่า "กิจการไม่ควรมีกำไรหรือขาดทุนจากรายการที่เกี่ยวข้องกับหุ้นทุนของตน แม้ว่ากิจการอาจขายหุ้นทุนที่ซื้อคืนได้ในราคาสูง (ต่ำ) กว่าราคาทุนที่ซื้อมา บัญชีจะไม่รายงานกำไร (ขาดทุน) ในงบกำไรขาดทุน แต่จะบันทึกปรับปรุงส่วนของผู้ถือหุ้นโดยตรง" 4. การซื้อหุ้นทุนคืนจะเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้บริษัทมหาชนจำกัดมีทางเลือกในการบริหารสภาพคล่องส่วนเกิน โดยสามารถซื้อหุ้นของตนเองได้หากหุ้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และขายคืนออกไปได้เมื่อราคาได้ปรับตัวสู่มูลค่าที่เหมาะสม จึงหารือดังนี้ 4.1 กรณีการขายหุ้นทุนที่ซื้อคืน เนื่องจากการขายหุ้นทุนที่ซื้อคืนจะทำให้มีผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาทุนของหุ้นที่ซื้อคืน ผลต่างที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นรายได้หรือค่าใช้จ่ายที่บริษัทมหาชนจำกัดต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ อย่างไร 4.2 กรณีการลดทุน หากบริษัทมหาชนจำกัดขายหุ้นทุนซื้อคืนไม่หมดภายในเวลาที่กำหนดและต้องลดทุนชำระแล้วโดยวิธีตัดหุ้นที่เหลือ เงินที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการขายหุ้นให้กับบริษัททั้งในกรณีผ่านหรือไม่ผ่าน ต. ถือเป็นเงินส่วนแบ่งกำไร ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่ แนววินิจฉัย : เนื่องจากแนวทางปฏิบัติทางการบัญชีเกี่ยวกับหุ้นทุนซื้อคืนของกิจการ กำหนดความหมายของคำว่า "หุ้นทุนซื้อคืน" ว่าหมายถึง "หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ และตราสารทุนอื่นที่มีสิทธิและลักษณะเทียบเท่าหุ้นสามัญของกิจการซึ่งกิจการหรือบริษัทย่อยของกิจการได้ซื้อคืนกลับมา หุ้นทุนซื้อคืนไม่ได้เป็นสินทรัพย์ของกิจการ แต่เป็นการลดสิทธิเรียกร้องของผู้ถือหุ้นในสินทรัพย์ของกิจการ" หุ้นดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะเป็นสินทรัพย์ แต่เข้าลักษณะเป็นทุนของบริษัทมหาชนจำกัด และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทมหาชนจำกัดจะขายหุ้นทุนซื้อคืน หรือลดทุนชำระแล้วโดยวิธีตัดหุ้นที่เหลือ กรณีการขายหุ้นทุนซื้อคืนไม่หมดภายในเวลากำหนด กรณีดังกล่าว หากบริษัทมหาชนจำกัดได้บันทึกบัญชีหุ้นทุนซื้อคืนดังกล่าวเป็นส่วนของทุน ถือว่าผลประโยชน์ที่ได้จากการขายหุ้นทุนซื้อคืนหรือจากการลดทุนเป็นส่วนของทุน ซึ่งไม่ถือเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด เลขตู้ : 68/33670

4 มกราคม 2549


Copyright (c) 2014 - 2024 narongaccounting.co.th All rights reserved.
System developed by CRiT SERVICE | CHECK MAIL | BOOKMARK | NR SERVICE