มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการย่านราชประสงค์

ในการออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. จนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ตลอดจนพนักงาน และลูกจ้างของกิจการที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ออกมาตรการช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวเช่นกัน

 ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (พื้นที่บริเวณย่านราชประสงค์) ทำให้มีโรงแรมและศูนย์การค้าหลายแห่งต้องหยุดการดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราวส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ในย่านดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ และเกิดปัญหาด้านสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามมา และคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งในส่วนมาตรการชะลอกระแสเงินสดจ่ายออก (มาตรการด้านภาษี และ มาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เอสเอ็มอี

มาตรการภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์และผ่านฟ้า กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วจึงเห็นสมควรกำหนดมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ดังนี้

1. การขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ซึ่งจะยื่นแบบชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2552 และต้องยื่นชำระภาษีฯ ภายในวันที่ 30 พ.ค. 2553 โดยต้องเป็นรายที่ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการที่กระทรวงการคลังจะได้จัดตั้ง กรมสรรพากรจะขยายเวลาให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2553

2. การขยายระยะเวลายื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ซึ่งปกติกำหนดให้ชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เห็นสมควรขยายการยื่นแบบฯ ออกไป 2 เดือนนับจากวันสิ้นสุดการชุมนุม โดยจะมีการพิจารณาสำหรับการยื่นคำร้องเฉพาะราย

3. การขยายระยะเวลายื่นแบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.3) ซึ่งปกติกำหนดให้ชำระภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป เห็นสมควรการขยายการยื่นแบบออกไป 2 เดือน นับจากวันสิ้นสุดการชุมนุม โดยจะมีการพิจารณาสำหรับการยื่นคำร้องเฉพาะราย

มาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง
 กระทรวงการคลังได้พิจารณาในส่วนมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เอสเอ็มอีแล้ว เห็นควรให้ความช่วยเหลือเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีย่านราชประสงค์ โดยใช้หลักการในทำนองเดียวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาภายในประเทศ โดยมีรายละเอียดของโครงการ ดังนี้

1. กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและมีสถานประกอบการอยู่ในเขตพื้นที่ราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ

2. วงเงินสินเชื่อรวมของโครงการ : 5,000 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) เป็นผู้ให้สินเชื่อทั้งจำนวน

3. วงเงินสินเชื่อต่อราย : เงินกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ทั้งนี้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ธพว.ในการอนุมัติสินเชื่อต่อราย

4. ระยะเวลาโครงการ : สิ้นสุดวันรับขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2553 หรือเมื่อเต็มวงเงินสินเชื่อ 5 พันล้านบาท

5. ระยะเวลาการให้กู้ยืม : ระยะเวลาการให้กู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี 

6. อัตราดอกเบี้ย : ให้ ธพว. เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ เอ็มแอลอาร์ ลบ 3% ต่อปี ตลอดระยะเวลาการให้กู้ยืม โดยปีแรกจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้น 1 ปี

7. หลักประกัน : ผู้ประกอบการที่ต้องการของสินเชื่อสามารถเลือกใช้หลักประกันตามแนวทางใด แนวทางหนึ่ง หรือ หลายแนวทางร่วมกันได้ ดังนี้

(1) ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง สิ่งปลูกสร้าง อาคารชุด ห้องชุด เครื่องจักร อุปกรณ์ การรับโอนสิทธิการเช่าในอสังหาริมทรัพย์ของที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ หรือ

(2) บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล หรือ

(3)การค้ำประกันไขว้ (Cross Guarantee) (หมายความว่าผู้ขอสินเชื่อตั้งแต่สองรายขึ้นไป ต้องยื่นขอสินเชื่อพร้อมกันและค้ำประกันให้กัน)

8. ให้ ธพว. แยกบันทึกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติ (Public Service Account : PSA) เพื่อขอรับการชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากรัฐบาล 

มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือพนักงานและลูกจ้างของกิจการที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย 5 มาตรการ ได้แก่ 
 1. พนักงานหรือลูกจ้างที่ถูกให้ออกจากงาน หรือยุติการจ้างรายวันหรือชั่วคราวขอให้รัฐเป็นผู้จ่ายเงินชดเชย โดยใช้ค่าเฉลี่ยรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของเดือนมี.ค. เป็นเกณฑ์
 2. พนักงานหรือลูกจ้างที่ขาดรายได้จากส่วนแบ่งจากการขายและบริการหรือคอมมิชชั่น ขอให้รัฐเป็นผู้จ่ายชดเชย โดยใช้ค่าเฉลี่ยรายได้ที่เกิดขึ้นจริงเดือนมี.ค. เป็นเกณฑ์
 3. พนักงานหรือลูกจ้างที่นายจ้างยังคงรักษาสภาพการเป็นพนักงานหรือลูกจ้างและยังคงจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างปกติ ขอให้รัฐพิจารณาสนับสนุนแก่นายจ้าง โดยให้คิดจำนวนวันที่รัฐให้เงินสนับสนุนตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.จนกระทั่งการชุมนุมสิ้นสุด หากรัฐมิสามารถจัดสรรเงินสนับสนุนดังกล่าว ให้กิจการตั้งเป็นยอดเครดิตเพื่อหักกับการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและหรือภาษีนิติบุคคลที่กิจการต้องนำส่งในอนาคต
 4. หากไม่สามารถชดเชยหรือให้การสนับสนุนได้ขอให้พิจารณายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือเพิ่มค่าลดหย่อนแก่พนักงานและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบโดยตรงสำหรับปีภาษี 2553
 5. ยกเว้นการหักเงินประกันสังคมสำหรับพนักงานและลูกจ้างและงดการนำส่งเงินกองทุนทดแทนแรงงานสำหรับช่วงระยะเวลาที่เกิดการชุมนุม

มาตรการชดเชยความเสียหาย อันเกิดจากการสูญเสียรายได้ของกิจการ แนวทางชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามระยะเวลาที่เกิดจริง ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่
  1. ชดเชยโดยให้ผู้ประกอบการหักกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ขาย) ที่ต้องนำส่ง
 2. ชดเชยโดยให้ผู้ประกอบการหักกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ปี 2553
 3. ชดเชยโดยให้ผู้ประกอบการหักกับภาษีโรงเรือนที่ต้องชำระ
 4. หากไม่สามารถดำเนินการชดเชยความเสียหายโดยตรงได้ ขอให้พิจารณายกเว้นภาษีโรงเรือน และภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับปีภาษี 2553





28 เมษายน 2553


Copyright (c) 2014 - 2024 narongaccounting.co.th All rights reserved.
System developed by CRiT SERVICE | CHECK MAIL | BOOKMARK | NR SERVICE