กรรมการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และนำเงินให้บริทกู้ต่อ ดอกเบี้ยจ่ายถือเป็นรายจ่ายได้

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่นาย A ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทได้กู้เงิน จากธนาคารโดยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของนาย A จดทะเบียนจำนองการกู้ยืมเงิน เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและตกแต่งอาคาร ใช้เป็นสถานประกอบกิจการของบริษัท โดยการปลูกสร้างอาคารดังกล่าวเป็นการปลูกสร้างอาคารลงบนที่ดินที่บริษัทได้เช่ามาจากกรรมการ (นาย A) และบริษัทเป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารดังกล่าว ส่วนเงินที่กู้มาจากธนาคารก็ได้มีการนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามของบริษัท และบริษัทได้รับรองในบันทึกรายงานการประชุมของผู้ถือหุ้นว่าเป็นการกู้ยืมในนามของบริษัท

ดังนั้น บริษัทจึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินกู้ยืมโดยตรง ซึ่งบริษัทต้องร่วมรับผิดในการกู้ยืมเงินนั้นด้วย ด้วยเหตุดังกล่าว ดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินกู้ยืมดังกล่าวย่อมเป็นรายจ่ายของบริษัทโดยตรง แต่เนื่องจากได้จ่ายไปในระหว่างการก่อสร้างจนถึงการก่อสร้างแล้วเสร็จหรืออาคารใช้การได้ตามสภาพ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร จะนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ แต่มีสิทธินำไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าอาคาร เพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่ายไปหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จหรืออาคารนั้นใช้การได้ตามสภาพ ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่พึงต้องจ่ายได้

กรณีค่าธรรมเนียมและค่าอากรในการจดทะเบียนจำนอง กรณีกรรมการนำที่ดินของตนไปจดทะเบียนจำนอง ซึ่งเป็นการค้ำประกันการกู้ยืมเงินเพื่อปลูกสร้างอาคารใช้เป็นสถานประกอบการของบริษัท ค่าธรรมเนียมและค่าอากรในการจดทะเบียนจำนองดังกล่าว หากปรากฏหลักฐานเป็นค่าใช้จ่ายของกรรมการบริษัทผู้จดทะเบียนจำนอง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทไม่อาจนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร



19 พฤษภาคม 2552


Copyright (c) 2014 - 2024 narongaccounting.co.th All rights reserved.
System developed by CRiT SERVICE | CHECK MAIL | BOOKMARK | NR SERVICE