ขายสินค้าต่ำกว่าราคาทุนโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานสามารถนำผลขาดทุนจากการขายมาถือเป็นยอดขายเพิ่มขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10341/2550

โจทก์ (บริษัท) ขายรถยนต์ต่อเติมพร้อมอุปกรณ์ต่ำกว่าราคาทุน โดยนำสืบว่าการที่บริษัทต้องขายรถยนต์ในราคาต่ำกว่าราคาทุน เนื่องจากขณะนั้น บริษัทมีสภาพการเงินไม่คล่องตัว ต้องซื้อตัวรถยนต์จากบริษัท ต. จำกัด ในราคาผ่อนส่ง ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าที่ซื้อด้วยเงินสด และต้องชำระค่าต่อเติมดัดแปลงรถยนต์แก่ผู้รับต่อเติมดัดแปลงเป็นเงินสด เพราะผู้รับต่อเติมดัดแปลงไม่ยอมให้บริษัทผ่อนชำระ บริษัทจะต้องนำเงินจากการกู้หรือการเบิกเงินเกินบัญชีไปผ่อนชำระค่าตัวรถยนต์แก่บริษัท ต. จำกัด ในแต่ละงวดและชำระค่าต่อเติมดัดแปลงรถยนต์แก่ผู้รับต่อเติมดัดแปลงเป็นเงินสดทั้งจำนวน บริษัทต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยอันเป็นผลกระทบต่อกิจการของบริษัท อีกทั้งในช่วงระหว่างที่ถูกประเมิน บริษัทมีสินค้าคงเหลือเป็นจำนวนมาก บริษัทจึงต้องเร่งขายรถยนต์ให้ได้จำนวนมาก อันจะทำให้บริษัทสามารถขายอะไหล่ได้มากขึ้นด้วยประกอบกับบริษัทขายรถยนต์ขาดทุนเพียงร้อยละ 3 จากจำนวนที่สั่งซื้อนอกนั้นบริษัทขายมีกำไร ซึ่งบริษัทสามารถหมุนเวียนขายรถยนต์ได้ประมาณ7 ถึง 9 ครั้ง โดยเฉลี่ยการขายแต่ละครั้งจะทำให้บริษัทมีกำไรมาทดแทนการขายขาดทุน ทำให้สามารถระงับภาระดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี และนำเงินไปซื้อรถยนต์เป็นเงินสด ซึ่งมีราคาถูกกว่าซื้อเงินเชื่อ เพื่อนำรถยนต์มาขายหมุนเวียนเป็นกำไรต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จึงเป็นการขายขาดทุนที่มีเหตุอันสมควรเจ้าพนักงานประเมินไม่เห็นด้วยและได้กำหนดราคาขายขึ้นใหม่

ศาลฎีกามีความเห็นว่า บริษัทประกอบกิจการเพื่อแสวงหากำไร โดยกู้ยืมเงินมาลงทุน ตอนที่บริษัทขายรถยนต์ไปในราคาต่ำกว่าราคาทุนก็ไม่ปรากฏว่าราคาของรถยนต์ในขณะนั้นลดลง และบริษัทก็ไม่ได้ประสบกับการขาดทุน จึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องขายรถยนต์ในราคาที่ขาดทุน อีกทั้งบริษัทก็ไม่สามารถชี้แจงเหตุผลของการขายขาดทุนแก่เจ้าพนักงานประเมินได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า บริษัทขายรถยนต์ต่ำกว่าราคาทุนโดยมีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอาผลขาดทุนจากการขายมาคำนวณเป็นยอดขายเพิ่มขึ้นจึงชอบแล้ว

หมายเหตุ ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าวมิได้มีการกล่าวถึงประเด็นในเรื่องบริษัทโจทก์มีความเกี่ยวข้องในลักษณะเป็นบริษัทในเครือเดียวกันหรือมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไรหรือไม่กับผู้ซื้อ แต่พฤติกรรมเปิดโอกาสให้มีการตีความเช่นนั้นได้ในปัจจุบันการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรมักจะให้ความสำคัญกับประเด็นการขายต่ำกว่าราคาทุน ทั้งนี้โดยเฉพาะกรณีที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกันหรือมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น มีผู้ถือหุ้นหรือผู้บริหารชุดเดียวกัน ดังนั้น บริษัทจึงต้องพิจารณาและให้ความสำคัญกับเหตุผลในอันที่จะขายต่ำกว่าราคาทุน เพราะมิฉะนั้นอาจถูกพิจารณาว่าเป็นการขายต่ำกว่าราคาทุนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร



29 กันยายน 2551


Copyright (c) 2014 - 2024 narongaccounting.co.th All rights reserved.
System developed by CRiT SERVICE | CHECK MAIL | BOOKMARK | NR SERVICE